รู้แล้วจะอึ้ง… นางในพระราชวังวงศ์ชิง กินอะไรเป็นอาหาร!!!
การเป็นนางในสมัยนั้นแม้ชีวิตอาจจะขาดความรักความอบอุ่น แบบชีวิตคนธรรมดาที่อยู่กันแค่สามีภรรยา แต่สิ่งหนึ่งที่นางในจะไม่ขาดเลยคือปัจจัยสี่ที่จะมาอย่างถล่มทลาย คล้ายจะเพื่อทดแทนความว่างเปล่าในชีวิต
นางในที่เข้ามาประจำอยู่ในวังนั้นตั้งแต่ยศสูงส่งคือ พระพันปีหลวง ยันต่ำสุดคือนางข้าหลวงตัวน้อย ล้วนแต่ได้รับเงินปีกันโดยทั่วหน้า ยิ่งถ้าบุญพาวาสนาส่งให้อายุยืนกว่าฮ่องเต้ เพื่อเป็นพระสนมในรัชกาลก่อนปุ๊บ เงินปีก็จะเพิ่มขึ้นปั๊บ เช่น พระสนมชั้นสูงตำแหน่งฮวงกุ๊ยเฟย เมื่อได้เป็นพระสนมรัชกาลก่อน จากเงินปีที่ได้ปีละ 800 ตำลึงเงิน ก็กลายเป็น 1800 ตำลึงทองทันที หรือถ้าไม่ได้ขึ้นสองเท่า ก็จะได้เพิ่มจากเดิมประมาณ 200 – 500 ตำลึงเงิน
นอกจากเงินนี้แล้ว ของอื่นๆที่ตามมาก็ยังมีอีกมากมาย ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องใช้ อาหาร ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับเงินที่ได้รับประจำปี พูดง่ายๆคือ เงินที่ได้ไม่ต้องใช้เพื่อดำรงชีวิต เพราะว่าในวังจะมีปัจจัยสี่ให้อย่างสมบูรณ์ ถือ เป็นสิทธิที่จะได้เมื่อเป็นนางใน อาทิ แต่ละคนจะได้ส่วนแบ่งจำนวนผ้ามาในแต่ละฤดู ผ้ากองพะเนินะจะถูกส่งมาให้เลือก แล้วจะมีช่างตัดให้ เครื่องใช้ในชีวิตก็มีการกำหนดไว้ว่าจะได้เท่าไรต่อคน อาหารก็เช่นกัน กำหนดไว้เลยว่าแต่ละวันจะได้อาหารปริมาณเท่าไร และมีการปรุงให้เสร็จ นางในมีหน้าที่นั่งกินอย่างเดียวเท่านั้นไม่ต้องจ่าย ไม่ต้องสั่ง นั่งรอเป็นพอ
ภาพตวนคังฮวงกุ่ยไท่เฟย (端康皇贵太妃: huang gui tai fei) พระสนมผู้มียศไม่ตกเลยจนสิ้นอายุไข
ใน 1 วันราชสำนักแมนจูจะรับประทานอาหาร 3 มื้อ ถ้านับตามธรรมเนียมปฏิบัติของฮ่องเต้ มื้อเช้าประมาณ 6นาฬิกา ๑ มื้อ มื้อเที่ยงตอน 14.00 มื้อ และมื้อเย็นตอน 17.00 นาฬิกาจะเป็นเครื่องว่าง ที่ไม่ค่อยจะเบานัก อาทิ ไก่ทอด หมูทอด ซาลาเปา จากธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว อาจจะสันนิษฐานว่าเหล่านางในแต่ละวันกินกี่มื้อ และมื้อหนึ่งกินกี่โมงคงไม่ได้แตกต่างไปจากฮ่องเต้เท่าใดนัก
ทางด้านชนิดของอาหารที่จะทำให้นางในกินนั้นไม่ได้กำหนดชนิดตายตัว ขึ้นอยู่กับห้องเครื่องหลวงจะทำถวาย อันนี้อย่าได้คิดว่าอาหารในวังจีนนั้นจะเป็นหนวดเต่าเขากระต่ายเป็นพื้น จริงๆ ก็ใช้เนื้อหมู เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เนื้อแพะธรรมดาๆนี้เอง ของแปลกๆ ก็มีมาเรื่อยๆ ตามแต่ว่ามีใครส่งมาเป็นบรรณาการประจำปี ที่ผิดจากอาหารคนธรรมดาคือของนั้นแม้จะเป็นของธรรมดาๆ แต่ว่าจะเป็นของชั้นเลิศ อาทิ แป้งที่ใช้ประกอบอาหารในวังจะโม่ถึง 6 ครั้ง ขณะที่บ้านชาวบ้านจะโม่แค่ 2 ครั้งเท่านั้น
ห้องเครื่องสำหรับปรุงอาหารถวายพระสนมจะแยกเป็นเอกเทศไม่ยุ่งเกี่ยวกับห้องเครื่องของฮ่องเต้ และฮ่องไทเฮา ห้องเครื่องจะทำอะไรมาถวายแก่นางในนั้นเป็นสิ่งที่นางในเลือกไม่ได้ แต่อาจจะสั่งได้ว่าไม่กินอะไร หรือไม่ก็ถ้าทำมาแล้วไม่ถูกใจจะสั่งออกไปว่าให้ทำอะไรเพิ่มมาก็ได้เช่นกัน หรือไม่ก็สั่งนางข้าหลวงและขันทีออกไปซื้อจากนอกวังมาให้กิน ไม่ก็ทำกินเองเพิ่มเติมก็ได้ แต่ปรกติแล้วอาหารปริมาณมากขนาดนั้น มันคงมีอะไรถูกใจสักอย่าง
ปริมาณอาหารที่จะทำให้นางในแต่ละคน จะแบ่งจำนวนตำลำดับศักดิ์ของนางในยิ่งสูงมากปริมาณยิ่งมาก ต่อไปนี้คือปริมาณเนื้อสัตว์ที่ใช้ปรุงอาหารถวายนางในแต่ละลำดับในวันๆหนึ่ง แต่ก่อนที่จะกล่าว ทั้งนี้ ขออธิบายเล็กน้อยเกี่ยวกับอัตราชั่งตัววัดของจีนโบราณกล่าวคือ ๑ ถาด หรือเรียกว่า “ผาน”(盘: pan) เท่ากับ ๑๖ จิน (斤: jin) ๑ จิน เท่ากับ ๕๙๖.๙๒ กรัม และ๑ จิน เท่ากับ ๑๖ เหลี่ยง (两:liang) โดย ๑ เหลี่ยงเท่ากับ ๓๑. ๒๕ กรัม
ต่อไปนี้คือปริมาณเนื้อสัตว์ที่เป็นส่วนแบ่งให้นางในแต่ละลำดับศักดิ์ในแต่ละวัo
ที่ 1. ฮองไทเฮา – หมู 1 ตัว แพะ 1ตัว ไก่เป็ด อย่างละ 1 ตัว
ที่ 2. ฮองเฮา – หมู 1 ถาด (9.6 กิโลกรัม) แพะ 1 ถาด (9.6 กิโลกรัม)ไก่เป็ด อย่างละ 1 ตัว
ที่ 3. ฮวงกุ่ยเฟย – หมู 12 จิน (7.2กิโลกรัม) แพะ 1 ถาด (9.6 กิโลกรัม) ไก่ หรือเป็ด อย่างละ 1 ตัว
ที่ 4. กุ่ยเฟย – หมู 9 จิน 2 เหลี่ยง (5.92 กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ 15 ตัว แพะเดือนละ 15 ถาด(143.28 กิโลกรัม)
ที่ 5. เฟย – หมู 9 จิน (5.4 กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ 10 ตัว แพะเดือนละ 15 ถาด(143.28 กิโลกรัม)
ที่ 6. ผิน – หมู 6 จิน (3.56 กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ 10 ตัว แพะเดือนละ 15 ถาด(143.28 กิโลกรัม)
ที่ 7. กุ่ยเหริน – หมู 6 จิน (3.56 กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ 8 ตัว แพะเดือนละ 15 ถาด(143.28 กิโลกรัม)
ที่ 8. ฉางจ้าย – หมู 5 จิน 2.98 กิโลกรัม) เป็ดไก่รวมแล้วเดือนละ 5 ตัว แพะเดือนละ 15 ถาด(143.28 กิโลกรัม)
ที่ 9. ตาอิ้ง – หมู 1 จิน02 เหลี่ยง (659.42 กรัม) เนื้อสัตว์อื่นๆและผักในแต่ละวัน รวมแล้ว 2 จิน (1.2 กิโลกรัม)
ที่ 10. กวนนู่ (นางพนักงาน) – หมู 1 จิน (596.92 กรัม) เนื้อสัตว์อื่นๆและผักในแต่ละวัน 12 เหลี่ยง (375กรัม)
ที่ 11. กงนู่ (นางข้าหลวง) – หมู 1จิน (596.92 กรัม) เนื้อสัตว์อื่นๆและผักในแต่ละวัน 10 เหลี่ยง (312.5 กรัม)
จากปริมาณเฉพาะเนื้อสัตว์ ยังไม่นับรวมผัก รวมข้าว จะเห็นได้ว่าอาหารที่ให้นางในรวมถึงนางพนักงานและนางข้าหลวงในแต่ละวันนั้นมากมายมหาศาล ถ้ากินหมดคงไม่ใช่มนุษย์ และแน่นอนไม่มีใครกินหมด แต่อาหารที่เหลือนั้นจะไม่ถูกทิ้งเด็ดขาด แต่ว่าจะเหลือให้เหล่าบ่าวไพร่ในวังกินต่อ อาทิ ฮ่องเต้เสวยอาหารเหลือ (มื้อหนึ่งประมาณ 20 กว่าชนิด) จะประทานอาหารที่เหลือนั้นให้แก่เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง รวมไปถึงขันทีที่รับใช้
สำหรับอาหารที่เหลือ นางในเองก็ไม่ได้ต่างกัน หลังจากเหล่าพระสนมเสวยเสร็จ นางข้าหลวงขันทีจำนวนไม่น้อยก็กินต่อ หลักฐานมีปรากฎในบันทึกคุณหญิงเต๋อหลิง (德龄公主:de ling gong zhu) นางสนองพระโอษฐ์พระนางสูซีไทเฮา คุณหญิงเล่าว่า หลังจากที่พระนางเสวยเสร็จแล้ว ฮ่องเฮา และเหล่าเชื้อพระวงศ์ที่คอยถวายงาน รวมไปถึงนางสนองพระโอษฐ์ก็จะนำของเสวยมากินร่วมกัน กินเสร็จแล้วเหล่านางข้าหลวงและขันทีก็จะนำไปกินต่อ สรุปง่ายๆคืออาหารเหลือนั้นไม่มีทางเหลือทิ้ง เพราะคนงานในวังนี้มากมายเหลือจะนับ แต่ถ้าสงสัยว่าทำไมไม่ทำเฉพาะนายกิน และทำเฉพาะบ่าวกิน ก็มีคำอธิบายว่า นายที่ดี ควรจะให้บ่าวร่วมสุขด้วย มีของกินดีๆก็ควรแบ่งเหลือไว้ให้บ่าวกิน ไม่เช่นนั้นจะบ่งว่านายนี้เหนียวเกินจะรับใช้
ส่วนอาหารที่ทำนางในกินนั้นจะมีทั้งอาหารแบบแมนจู และอาหารแบบจีนฮั่น กล่าวคือ อาหารชาววังของจีนในสมัยราชวงศ์ชิงเป็นการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมอาหารของชาวแมนจูดั้งเดิม กับการทำอาหารของชาวจีนฮั่น กล่าวคือ ในสำหรับเครื่องเสวยแต่ละมื้อ อาหารจะมีทั้งอาหารแบบชาวแมนจูดั้งเดิมที่เป็นอาหารจำพวกปิ้ง ย่าง ขณะเดียวกันก็จะมีอาหารแบบชาวจีนฮั่นตามท้องถิ่นต่างๆ ส่วนจำนวนอาหารนั้น ตามธรรมเนียมการจัดเลี้ยงของชาวแมนจูโบราณที่นิยมจัดอาหารหลักต่อ 1 โต๊ะจำมีจำนวน 8 ชนิดต่อโต๊ะ ไม่นับขนมและของว่าง จำนวนอาหารของนางในคงไม่ต่างกัน แต่อาจจะมีจำนวนมากขึ้นเป็นพิเศษอาจจะมากถึง 15-20 ชนิด แล้วแต่ศักดิ์ของผู้เสวย หรือรับประทาน หากเป็นงานเทศกาลเลี้ยงฉลองขึ้นมา อาหารจะเป็นจำนวน 100 ขึ้นไปได้ทันที
กินอิ่ม แต่อาจนอนไม่หลับ เพราะสามีต้องไปหาอีหนูอีกหลายบ้าน แบบนี้คุ้มมั้ยนะ!!!
ขอขอบคุณข้อมูล และเครดิตภาพจาก thnewsths
Leave a Reply