เรื่องเล่าเสาหลักเมือง… ประเพณีการ “ฝังคนทั้งเป็น”
การจะสร้างเมืองใหม่ขึ้น ณ ที่ใดนั้น ตามความเชื่อของประเพณีไทยมาแต่โบราณ จะต้องมีการหาฤกษ์งามยามดี สำหรับการฝังเสาหลักเมือง เพื่อความร่มเย็นเป็นสุขของชาวเมือง
เสาหลักเมือง กรุงเทพฯ
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงอธิบายเรื่องเสาหลักเมืองไว้ในหนังสือวงวรรณคดี ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2491 ตอนหนึ่งว่า
“หลักเมือง” เป็นประเพณีพราหมณ์ มีมาแต่อินเดีย ไทยตั้งเสาหลักเมืองขึ้นตามธรรมเนียมพราหมณ์ ที่จะเกิดหลักเมืองนั้น คงจะเป็นด้วยประชุมชน ประชุมชนนั้นต่างกัน ที่อยู่เป็นหมู่บ้านก็มี หมู่บ้านหลาย ๆ หมู่รวมกันเป็นตำบล ตำบลตั้งขึ้นเป็นอำเภอ อำเภอนั้นเดิมเรียกว่าเมือง เมืองหลาย ๆ เมืองรวมเป็นเมืองใหญ่ ๆ เมืองใหญ่ ๆ หลาย ๆ เมืองรวมเป็นมหานคร คือเมืองมหานคร
ในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ก็เล่าเรื่องราวที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงสถาปนากรุงเทพฯ ขึ้นเป็นนครหลวงแห่งใหม่ ก็ได้กล่าวถึงการตั้งเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ ไว้ตอนหนึ่งว่า
“…จึงดำรัสสั่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์ กับ พระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและบ่าวไพร่ ไปกะที่สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง ณ วันอาทิตย์เดือนหกขึ้นสิบค่ำ ฤกษ์เพลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที่…”
ในการตั้งเสาหลักเมืองของไทยทุกเมืองนั้น มิใช่ว่าจะเป็นเพียงเสาหลักเมืองหรือเสาไม้ เสาหิน ธรรมดาต้นหนึ่งเท่านั้นก็หาไม่ แต่ความจริงนั้นในปลายเสาหลักเมือง ซึ่งมักจะทำเป็นหัวเม็ดทรงมัณฑ์นั้น เขาจะบรรจุดวงชะตาของเมืองที่จะสร้างขึ้นใหม่ไว้ด้วย การวางชะตาเมืองนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว ซึ่งโหรหลวงจะต้องผูกชะตาเมืองถวาย พร้อมกับทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองล่วงหน้าได้
มีเรื่องเล่ากันมาว่า
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้โหรผูกชะตาเมืองกรุงเทพฯ ที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น โหรหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดวงเมือง 2 แบบคือดวงเมืองแบบหนึ่ง บ้างเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีเหตุวุ่นวาย แต่ทว่าจะต้องมีอยู่ระยะหนึ่ง ที่ประเทศไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ส่วนอีกดวงเมืองหนึ่งนั้น ประเทศไทยจะมีแต่เรื่องยุ่งวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป
ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเลือกดวงเมืองตามแบบหลัง เพราะพระองค์คงจะทรงเห็นว่าการที่จะต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นนั้น แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองแค่ไหนก็ไม่ความหมายอันใด เมื่อสิ้นความเป็นไทย
เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์อยู่ไม่น้อย ที่ในสมัยในรัชกาลที่ 4 – 5 นั้น บ้านเมืองต่าง ๆ โดยรอบประเทศไทย ไม่ว่าลาว เขมร พม่า มลายู ต่างตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสและอังกฤษจนหมดสิ้น แม้แต่ประเทศใหญ่อย่างอินเดีย ก็ยังตกเป็นของอังกฤษ มีแต่ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่รักษาเอกราช คงความเป็นไทมาได้ (แต่ก็อย่าเพิ่งลำพองใจนะครับ ถึงไม่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งทางกายภาพ แต่ขณะนี้ไทยเราเป็นเมืองขึ้นทางวัฒนธรรมของฝรั่งเกือบ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว)
เรื่องนี้อาจจะเนื่องมาจากดวงเมืองของกรุงเทพฯ ที่บรรจุอยู่ ณ ปลายเสาหลักเมืองก็เป็นได้ ?
สำหรับเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ นั้น เสาเดิมจะเป็นอย่างไร ก็คงไม่มีใครเคยเห็น เพราะเหตุว่าได้มีการเปลี่ยนเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ กันครั้งหนึ่ง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเสาหลักเมืองเดิมนั้นผุพังหมดสภาพไปนั่งเอง
เสาหลักเมือง ที่เปลี่ยนใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ต้นใหญ่มาก คือมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 30 นิ้ว สูง 108 นิ้ว ตรงปลายเสาทำเป็นรูปหัวเม็ดทรงมัณฑ์ บรรจุดวงชะตาของกรุงเทพฯ ไว้ภายใน
แต่ทุกวันนี้ จะไปหาดูเนื้อไม้สักนิดก็ไม่เห็น เพราะประชาชนผู้เคารพสักการะเสาหลักเมืองนั้น ได้พากันปิดทองคำเปลว จนกระทั่งเสาหลักเมืองอร่ามเรืองเป็นสีทอง ราวกับหล่อด้วยทองคำทั้งแท่งทีเดียว
เสาหลักเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่มีเรื่องเล่าว่านำสามเณร ชื่อ มั่น และ คงมาฝังทั้งเป็นพร้อมกับการตั้งเสา
อย่างเช่นเรื่องราวของการตั้งเสาหลักเมืองที่เพชรบูรณ์ เล่ากันมาว่าก่อนจะตั้งเสาหลักเมืองนั้น เจ้าเมืองได้ป่าวร้องหาคนที่ชื่อ มั่น และ คง เพื่อจะนำตัวมาฝังพร้อมกับเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ ปรากฏว่าไปเจอสามเณรพี่น้องสององค์ชื่อมั่นและคงตามที่ต้องการพอดี จึงให้นำสามเณรมั่นและสามเณรคง มาฝังทั้งเป็นพร้อมกับการตั้งเสาหลักเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อให้บ้านเมืองมั่นคงตามเคล็ดที่เชื่อถือกันมาแต่โบราณ
เรื่องนี้จะเท็จจริงประการใด ไม่ขอยืนยัน เพราะเป็นตำนานเก่าแก่ ที่ชาวเมืองเพชรบูรณ์เล่าสืบกันมา แต่ก็น่าแปลกที่ว่า ศาลหลักเมืองจังหวัดเพชรบูรณ์ในทุกวันนี้ ทำเป็นสองหลังแฝดติดกัน เพื่อให้ตรงกับตำนานที่เล่ามาถึงสามเณรมั่นและสามเณรคงนั่นเอง
ในปัจจุบันนี้ เสาหลักเมือง มักจะเป็นที่บนบานศาลกล่าว ใครปรารถนาหรือต้องการอะไร ก็ไปบนกับเจ้าพ่อหลักเมือง เมื่อสมปรารถนาแล้วก็ไปแก้บน อย่างที่เห็นอยู่ที่ศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด ก็มีการแก้บนกันทุกวัน ทั้งด้วยหัวหมู บายศรี ของคาวหวาน และละครชาตรี หรือในต่างจังหวัดนั้น นิยมบนบานถวายพาหนะให้เจ้าพ่อหลักเมือง เมื่อสมคิดแล้วก็นำช้างไม้บ้าง ม้าไม้บ้าง ไปถวายเจ้าพ่อหลักเมืองเต็มศาลไปหมด อย่างเช่น ศาลหลักเมืองจันทบุรี ก็มีช้างไม้ขนาดใหญ่น้อยเรียงรายอยู่เต็มหน้าศาลทีเดียว
ตำนานเหล่านี้ เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่ไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงแท้เพียงใด แต่อย่างน้อยก็เป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวเมืองที่อาศัยอยู่ เพื่อให้รู้ว่ากว่าจะสร้างบ้านเมืองได้นั้น ต้องสูญเสียไปมากเพียงใด
ขอขอบคุณข้อมูล และเครดิตภาพจาก storyofsiam
Leave a Reply