ตำนานแชร์แม่ชม้อย!!! แชร์ลูกโซ่ 8,000 ล้าน… เรื่องจริงที่ยังเล่าขานจนปัจจุบัน
คำว่า “แชร์แม่ชม้อย” หลายคนคงเคยได้ยินจนติดหู แต่ไม่รู้ที่มาว่ามาจากไหน ผู้หญิงในรูปคนนี้คือ เจ้าของวลีดังกล่าว ที่เล่าขานต่อๆ กันมา วันนี้จะได้ทราบความจริงกันสักที
“นางชม้อย ทิพย์โส” หรือ “แม่ชม้อย” เธอเป็นเจ้าแม่แชร์ 8,000 ล้าน ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินมหาศาลมากในสมัยพ.ศ.2536 เธอหลอกคนนับหมื่น จำนวนเงินสะพัดมากกว่า 4,000 ล้านบาท จนตำรวจจับกุมตัวได้ โดยเธอหลอกว่าว่าให้มาร่วมทุนบริษัทนํ้ามัน พร้อมจะให้ผลตอบแทนอย่างดีเป็นรายเดือน ทั้งที่ธุรกิจนี้อยู่ไม่มีจริง แค่มโน!
ระหว่างปี 2517-2528 แม่ชม้อยใช้ความสามารถในการเจรจาต่อรอง อุปโลกน์บริษัทขึ้นมาทำธุรกิจซื้อขายน้ำมัน หลอกระดมเงินทุนจากประชาชนที่ไม่เท่าทันได้เงินไปกว่า 4,000 ล้านบาท มีคนตกเป็นเหยื่อมากถึง 13,248 คน
แม่ชม้อยเป็นชาว จ.สิงห์บุรี หลังจบการศึกษาได้สมรสกับนายทหารอากาศคนหนึ่ง ก่อนจะเข้าทำงานที่องค์การเชื้อเพลิงในตำแหน่งเสมียนธุรการเมื่อปี 2504 กระทั่งได้ทำงานในหน้าที่ฝ่ายบริการทั่วไป และช่วยงานกองกลางฝ่ายบริหารทั่วไป
ต่อมานางชม้อยได้รับการชักนำจากเพื่อนร่วมงานให้ร่วมลงทุนค้าน้ำมัน เมื่อทำได้ระยะหนึ่งเห็นว่ารายได้ดี จึงชักชวนให้บุคคลอื่นๆ เข้าร่วมลงทุนด้วย กระทั่งมีผู้สนใจร่วมลงทุนค้าน้ำมันกับนางชม้อยเป็นจำนวนมาก
เมื่อเล็งเห็นช่องทางทำเงินเธอจึงตั้งบริษัท “ปิโตเลียม แอนด์ มารีน เซอร์วิส จำกัด” อุปโลกน์ว่าทำกิจการซื้อขายน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ มีเรือเดินทะเลขนส่งน้ำมัน โดยไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง
ต่อมานางชม้อยได้ใช่เล่ห์เหลี่ยมออกอุบายชักนำให้ผู้คนหลงเชื่อ นำเงินมาร่วมลงทุนกับบริษัท โดยทำสัญญากู้ยืมเงินว่าจะให้เงินตอบแทนในอัตราที่สูงลิบเป็นรายเดือน จนเป็นที่รู้จักกันดีในยุคนั้นว่า “แชร์น้ำมัน”
นางชม้อยกำหนดวิธีการรับกู้ยืมเงินเป็นคันรถบรรทุกน้ำมันคันรถละ 160,500 บาท ให้ผลตอบแทนเดือนละ 12,000 บาท หรือร้อยละ 6.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 78 ต่อปี และในเดือนธันวาคมของทุกปีจะหักเงินไว้ร้อยละ 4 ของผลประโยชน์ที่ได้รับ โดยอ้างว่าเป็นค่าภาษีการค้าและหักค่าเด็กปั๊มไว้อีกเดือนละ 100 บาท ตามจำนวนเดือนที่นำเงินมาให้กู้ยืม
ทุกครั้งที่มีเหยื่อหลงเชื่อนำเงินมาร่วมลงทุน นางชม้อยจะออกหลักฐานเป็นสัญญากู้ยืมเงินตามแบบที่มีขายอยู่ทั่วไปในท้อง ตลาด หรือบางรายจะออกหลักฐานให้เป็นเช็ค โดยผู้ให้กู้ยืมสามารถเรียกคืนเงินต้นเมื่อใดก็ได้ และจะกลับมาให้กู้ยืมอีกก็ได้ในเงื่อนไขเดิม
ธุรกิจแชร์น้ำมันเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะระยะแรกทุกคนที่นำเงินมาร่วมลงทุน จะได้รับเงินตอบแทนตรงตามเวลาที่นัดหมายทุกเดือน รายใดที่ต้องการถอนเงินก็สามารถทำได้ทุกราย ประกอบกับนางชม้อยทำงานอยู่ในองค์กรเชื้อเพลิง ซึ่งกำกับดูแลเรื่องน้ำมันของประเทศอยู่แล้ว จึงเป็นที่น่าเชื่อถือ มีประชาชนนับหมื่นนำเงินมาร่วมลงทุน จนมียอดเงินหมุนเวียนในบัญชีนับหมื่นล้านบาทในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งที่ช่วงแรกผู้ที่นำเงินมาร่วมลงทุนจะจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้มีฐานะดี แต่ต่อมาก็แพร่หลายออกไปยังประชาชนทั่วไป ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
ใครที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี นางชม้อยก็ให้นำเงินมาร่วมลงทุนได้ โดยแบ่งการลงทุนเป็นล้อ หมายถึงการแบ่งเล่นเป็นล้อคือ หนึ่งในสี่ของจำนวนเงินต่อคันรถน้ำมัน มีสัญญาเงินกู้เป็นหลักฐาน
ต่อมาเธอได้เปิด บริษัท อุดมข้าวหอมไทย จำกัด ขึ้นมาอีกบริษัท เพื่อใช้ในการหลอกระดมเงินเพิ่มเติม แต่ความจริงแล้วต้องการนำเงินที่ได้จากเหยื่อรายใหม่ไปจ่ายค่าตอบแทนให้ เหยื่อรายเก่าเท่านั้น
การดำเนินธุรกิจแชร์น้ำมันล่วงเลยมาระยะหนึ่ง กรมสรรพากรได้ตรวจสอบธุรกิจของเธอ พบว่าบริษัทของนางชม้อยทั้งสองแห่งไม่ได้ทำธุรกิจค้าขายน้ำมันและค้า ข้าวอย่างที่แจ้งไว้ ที่มีเงินมาจ่ายให้ผู้ลงทุนได้ก็เพราะนำเงินที่ได้จากเหยื่อไปฝากธนาคาร พาณิชย์ แล้วนำดอกเบี้ยมาจ่ายให้เจ้าของเงิน
ขณะที่ตัวนางชม้อยเองก็นำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาไปซื้อทรัพย์สินมีค่า จำนวนมาก และปกปิดอำพรางซุกซ่อนไว้ จากนั้นไม่นานนางชม้อยก็หอบเอาเงินและทรัพย์สินหลบหนีไป
เมื่อเรื่องแดงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อทยอยเข้าแจ้งความ แต่ด้วยบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาฉ้อโกงประชาชน ไม่อยู่ในข่ายที่จะสามารถดำเนินคดีนางชม้อยและพวกได้
รัฐบาลยุคนั้นเห็นว่าวิธีการระดมเงินของนางชม้อยเป็นภัยร้ายแรงต่อ ประชาชน ที่สูญเสียเงินจากการถูกหลอกลวง และเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ตราพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2527 เป็นต้นมากระทั่งปัจจุบัน
จุดจบของนางชม้อยและพวกอีก 9 คน เกิดขึ้นเมื่อปี 2528 หลังจากธุรกิจแชร์น้ำมันถึงทางตัน ไม่สามารถผันเงินค่าตอบแทนมาจ่ายให้ผู้ลงทุนได้ จึงถูกผู้ร่วมทุนนับพันคนแจ้งความร้องทุกข์
กระทั่งวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 นางชม้อยและพวกจึงถูกตำรวจกองปราบปรามจับกุม พร้อมทั้งยึดทรัพย์สร้างความตกตะลึงให้ชุดจับกุมอย่างมาก เนื่องจากนางชม้อยซุกซ่อนทรัพย์สินไว้จำนวนมหาศาล โดยเฉพาะเงินสดจำนวนมากบรรจุไว้ในถุงพลาสติกฝังไว้ในบ้านพักของเธอเองที่ จ.สิงห์บุรี ภาพการตรวจค้นถูกตีแผ่ในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ กลายเป็นเรื่องโจษขานของสังคมมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
คดีของนางชม้อยใช้เวลาสืบพยานในชั้นศาลนานกว่า 4 ปี สุดท้ายศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532 ให้นางชม้อยและพวกมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ให้จำคุกเป็นเวลา 117,595 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อีก 36,410 ปี รวมจำคุก 154,005 ปี
แต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) กำหนดให้ลงโทษรวมกันทุกกระทงแล้วไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงพิพากษาให้จำคุกนางชม้อยและพวกเป็นเวลา 20 ปี และให้คืนเงินที่ฉ้อโกงประชาชนไปรวม 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
ทรัพย์สินของนางชม้อยและพวกที่ถูกยึด ได้ถูกนำไปเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหาย ขณะที่ตัวนางชม้อยถูกจำคุกจริงเพียง 7 ปี 11 เดือน กับอีก 5 วัน เพราะได้รับการลดโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษไปเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536
แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปี แต่คดีแชร์แม่ชม้อยยังถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่ในแวดวงนักกฎหมาย ในสถาบันการศึกษาแทบทุกแห่ง ที่มีการเรียนการสอนวิชากฎหมาย ต่างหยิบยกคดีขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอน เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการบัญญัติพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่ เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ซึ่งผู้ทำผิดมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-1,000,000 บาท
เหยื่อความโลภ
แม้ จะมีคดีแชร์แม่ชม้อยเป็นคดีตัวอย่างมานานกว่า 30 ปี แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีประชาชนจำนวนมากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหัวหมอ ที่หลอกลวงเอาเงินจากประชาชน ด้วยวิธีระดมทุนทำธุรกิจในลักษณะ “แชร์ลูกโซ่” ทั้งที่มีการจับกุมกลุ่มคนเหล่านี้อยู่อย่างต่อเนื่อง
พ.อ.ปิยวัฒน์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งทลายเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ในยุคปัจจุบันมานับครั้งไม่ถ้วน ระบุว่า มิจฉาชีพอาศัยความโลภของประชาชน หลอกเอาเงินและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมากไม่แตกต่างกัน แต่ปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้ามากกว่าอดีต จึงกลายเป็นช่องทางในการโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้อื่นตกเป็นเหยื่อได้ง่ายขึ้น
พ.อ.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อสำคัญที่กำลังเป็นที่นิยมของมิจฉาชีพใช้เป็นช่องทาง หลอกลวง เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกับเหยื่อ โดยคนเหล่านี้จะไปสร้างเว็บเพจโฆษณาชวนเชื่อไว้ชักชวนให้ผู้คนนำเงินมาร่วม ลงทุนในกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดที่มิจฉาชีพอุปโลกน์ขึ้น แล้วอ้างว่าให้ผลตอบแทนสูงลิบ
“คนเหล่านี้มักเอาสินค้าที่อยู่ในความสนใจของ สังคมมาเป็นข้ออ้าง เช่น น้ำมัน ทอง ข้าว หรือสินค้าการเกษตร มาเป็นข้ออ้างในการทำธุรกิจ เอาผลตอบแทนที่สูงลิบมาล่อระดมทุน ส่วนมากจะเริ่มจากธุรกิจขายตรง มีการจัดตั้งบริษัท มีการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แต่กลับไม่ได้ทำธุรกิจจริง เมื่อระดมเงินได้แล้วก็จะปิดบริษัทหอบเงินหนีไป”
ดีเอสไอร่วมกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตำรวจ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงกระทรวงการคลัง ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มมิจฉาชีพประเภทนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง มีการจับกุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งแชร์น้ำมัน แชร์ข้าวสาร แชร์ก๋วยเตี๋ยว หรือแชร์ลูกโซ่อื่นใด แต่ยังไม่สามารถตัดรากถอนโคนกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ให้หมดไปในทันที
“ผลประโยชน์สูง จับกลุ่มนี้กลุ่มโน้นก็โผล่ มันมีมาเรื่อยๆ ตราบใดที่คนเหล่านี้ยังหาผลประโยชน์จากความโลภของประชาชนได้ การจับกุมคนเหล่านี้ก็ทำได้ยาก การจะดำเนินคดีได้ต้องมีผู้เสียหาย กว่าจะได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน คนเหล่านี้ก็ทำลายหลักฐาน หรือหลบหนีไปหมดแล้ว วิธีการที่จะยับยั้งไม่ให้คนเหล่านี้ทำความผิดได้ คือประชาชนจะต้องไม่หลงเชื่อใครง่ายๆ”
เหตุทำให้หลายคนหลงเชื่อเธอ ก็เพราะมาดนักธุรกิจที่ดูเก๋ไก๋ อีกทั้งเธอยังทำงานอยู่บริษัทเชื้อเพลง จึงมีความน่าเชื่อถือ เธอได้เปิดบริษัทใหม่อีกเพื่อระดมทุนมาจ่ายเงินให้เหยื่อบริษัทเก่าที่หลอกเงินมา ต่อมาสรรพากรตรวจสอบพบว่าธุรกิจนี้ไม่ได้มีอยู่จริง นางชม้อยเอาเงินไปฝากธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อเอาดอกเบี้ยไปจ่ายเหยื่อเท่านั้น สุดท้ายนางชม้อยถูกจับเพราะความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ให้จำคุกเป็นเวลา 117,595 ปี ฐานฉ้อโกงประชาชนตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 อีก 36,410 ปี รวมจำคุก 154,005 ปี!!! เรียกว่าต้องตายอีกไม่รู้กี่ชาติจึงจะพ้นโทษ
คำพูดสุดท้ายของนางชม้อยคือ “เรื่อง ความจำนี่ก็ต้องยกให้ฉัน ฉันเป็นคนจำได้แม่นยำมาก พูดอะไรหรือตอบคำถามอะไรที่กะทันหันนี่ ฉันสามารถตอบซ้ำๆ ได้อีกไม่ว่ากี่ครั้งกี่หนก็จะไม่มีวันผิดไปจากเดิมเลย”
แต่แล้ว สุดท้ายประมวลกฎหมายอาญาให้จำคุกไม่เกิน 20 ปี(เท่านั้น) และให้นางชม้อย กับพรรคพวกร่วมกันคืนเงินที่ฉ้อโกงด้วย นางชม้อย จึงจำคุกอยู่ในเรือนจำเพียง 7 ปี 11 เดือน 5 วัน เพราะได้รับการลดลงโทษ 2 ครั้ง และพ้นโทษเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2536 ที่ผ่านมา
ดีนะที่นางชม้อยเกิดเป็นคนไทย ได้รับการอภัยโทษจากในหลวงและพระราชินี ถ้าเกิดเป็นฝรั่ง มีหวังขังคุกแบบฝังลืม ไม่ได้พบเจออิสระอีกเลย… คุณชม้อยเอ้ยยยย
ขอขอบคุณข้อมูล ข่าวสด และเครดิตภาพจาก thaimarketing
Leave a Reply