อดีตสามี “เจนี่” “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์” ถูกพิพากษา “จำคุก” แล้ว ในคดีโคตรโกง!!!
กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตอบสนอง สำหรับคดีโคตรโกง หรือการโกงในระบอบประชาธิปไตย โดยการเปลี่ยนคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น นับเป็นคดีรุนแรงที่ระบบประชาธิปไตยไม่ควรปล่อยปละละเลย เช่นเดียวกับคดีของเอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อดีตสามีเก่าของเจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณก็เช่นกัน
วานนี้ที่ห้องพิจารณาคดี 7 ศาลจังหวัดสมุทรปราการ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดำเลขที่ อ.10182/2545 คดีแดง อ.3579/2549 ที่พนักงานอัยการจังหวัดสมุทรปราการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม อดีตนายก อบจ.สมุทรปราการเป็นจำเลยที่ 1 และนายปิติชาติ ไตรสุรัตน์ อดีตรองนายก อบจ.สมุทรปราการ เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยเรียบร้อยบริสุทธิ์และยุติธรรมตามกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และปลอมแปลงเอกสารของทางราชการ หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า ‘คดีโคตรโกง’
โดยครั้งนี้ นับว่าเป็นการนัดหมายในชั้นศาลฎีกาครั้งที่ 6 หลังจาก ครั้งที่ 5 และครั้งก่อนหน้านี้ จำเลยที่ 1 และ 2 ขอเลื่อนรับฟังคำพิพากษา กระทั่งการนัดหมายครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายชนม์สวัสดิ์ ได้เดินทางมาที่ศาล แต่นายปิติชาติไม่มาศาล โดยแจ้งเหตุขัดข้องเรื่องความเจ็บป่วยแต่ไม่มีใบรับรองแพทย์มาแสดง ศาลจึงสั่งให้ออกหมายจับ นายปิติชาติ เนื่องจากเคยกำชับแล้วว่า คดีนี้มีการเลื่อนอ่านคำพิพากษามาหลายครั้ง และขอให้จำเลยทั้งสองหลีกเลี่ยงการไม่มาตามนัดศาล
ต่อมาเวลา 13.15 น. นายชนม์สวัสดิ์ได้เดินทางมา พร้อมทนายความส่วนตัว เพื่อมาฟังคำพิพากษาด้วยตนเอง มีสื่อมวลชนมารอทำข่าวกันแน่นขนัด โดยนายชนม์สวัสดิ์ เดินลงจากรถด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แต่ไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนแต่อย่างใด ก่อนจะเดินขึ้นไปบนห้องพิจารณาคดี
สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 31 มี.ค.-2 พ.ค.2542 จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่รักษาการ นายกเทศมนตรีนครสมุทรปราการ ส่วนจำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ ในสมัยนั้น เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและรับผิดชอบในงานประจำทั่วไปของเทศบาลนครสมุทรปราการ จำเลยทั้งสองจึงเป็นพนักงานตามกฎหมาย ร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการ เป็นเหตุให้การจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยเรียบร้อย บริสุทธิ์ และยุติธรรมตามกระบวนการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย
ต่อมา ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกเทศบาล พ.ศ.2482 การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องมีเจตนาเพียงอย่างเดียวคือไม่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย จึงถือเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้บทลงโทษหนักที่สุด สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรักษาเอกสารกระทำการปลอมเอกสารให้จำคุก 6 ปีกับให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งสองมีกำหนดเวลาคนละ 4 ปี ริบของกลาง ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ และยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี
ทั้งนี้ มูลเหตุในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค.2542 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลนครสมุทรปราการโดยมีผู้สมัคร 2 กลุ่ม คือกลุ่มปากน้ำ 2000 ของนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม บุตรชายนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย และกลุ่มเมืองสมุทร ของนายประสันต์ ศีลพิพัฒน์ และเป็นที่มาของคำว่า “โคตรโกง” เนื่องจากมีช่างภาพทีวีสามารถจับภาพชายลึกลับกำลังนำบัตรเลือกตั้งผีมาใส่หีบบัตร ต่อมา นายประสันต์ ศีลพิพัฒน์ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสมุทรปราการ ว่า การเลือกตั้งมีการทุจริต และเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2545 อัยการจังหวัดสมุทรปราการ ได้ยื่นฟ้อง นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม หัวหน้ากลุ่มปากน้ำ 2000 เป็นจำเลยที่ 1 และนายปิติชาติ ไตรสุรัตน์ ปลัดเทศบาลนครสมุทรปราการ ในสมัยนั้น เป็นจำเลยที่ 2 โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายได้นำพยานเบิกความต่อสู้คดีจนถึงชั้นฎีกา
ผู้สื่อข่าวรายงานล่าสุด จากศาลจังหวัดสมุทรปราการ ภายหลังศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 1 ปี 6 เดือน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำศาลจังหวัดสมุทรปราการได้เข้าควบคุมตัวชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม จำเลยที่ 1 ทันที เพื่อส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ นำตัวเข้าเรือนจำเพื่อรับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาต่อไป
ขอให้คดีนี้ เป็นคดีตัวอย่างที่ค่อนข้างมีบทลงโทษที่ชัดเจน เพื่อให้ระบบประชาธิปไตย ยังคงยืนอยู่ได้อย่างผาสุกสวัสดี และสามารถนำไปบอกลูกหลานต่อไปในอนาคตได้ว่า “รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยใช้ได้จริงๆ” ไม่ใช่มีเพียงแค่ชื่อ
ขอขอบคุณข้อมูล และเครดิตภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์ และขอขอบคุณเครดิตภาพเพิ่มเติมจาก sanook.com
Leave a Reply