เรียน “กศน.” จบมาเป็น “หมอ” เรื่องเพ้อเจ้อ… ที่กลายเป็นจริง!!!
“กศน.” โรงเรียนภาคค่ำที่หลายคนมองไม่เห็นอนาคต แต่ไม่ใช่ นายวรวิทย์ คงบางปอ หรือ น้องวิทย์ นักเรียน กศน. คนแรกที่สอบตรง กสพท.ติดอันดับหนึ่งแพทย์พระมงกุฎฯ
จากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้เรียนสูง ประกอบอาชีพแพปลาใน จ.ระนอง ออกจากบ้านตั้งแต่ไก่ยังไม่โห่ กลับมาอีกทีก็มืดค่ำ ฝากคำสอนให้ลูกๆ ดูแลตัวเอง
น้องวิทย์ เล่าเรื่องราวหลังจากที่จบ ม.4 ว่า ด้วยความที่สนิทกับคุณครูที่ไปเรียนพิเศษ โดยครูได้ย้ายเป็นครูในระบบที่กรุงเทพฯ จึงชวนลูกศิษย์หลายคนมาเรียนที่กรุงเทพฯ ด้วยกัน พอไปเรียน ม.5 ได้ครึ่งเทอม ครูมีเหตุให้ต้องย้ายกลับไปที่ระนอง ครั้นจะอยู่ต่อก็ไม่มีญาติ จึงย้ายกลับระนองด้วยกันทั้งหมด
พอนำเอกสารไปสมัครเรียนที่โรงเรียนเดิม ก็ถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่า หน่วยกิตขาดไป 1 ตัว นั่นก็คือ วิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งตอนที่เรียนจบ ม.4 ยังไม่มีวิชานี้ ขณะที่ เพื่อนที่มาจากจังหวัดอื่นๆ ขาดหลายหน่วยกิตแต่โรงเรียนก็รับ
“มีอาจารย์ท่านหนึ่งพูดกับผมประโยคหนึ่ง ซึ่งผมจำได้ขึ้นใจเลยว่า ‘ถ้าไม่รู้จะไปไหนก็ไปเรียนกศน.ไม่เห็นเป็นไรเลย’ ตอนนั้นพี่สาวผมร้องไห้เลย เหมือนผมไม่มีที่ไปแล้ว เพราะว่าในระนองเป็นจังหวัดเล็กๆ มีโรงเรียนประจำจังหวัด เฉพาะในเมือง แค่ 2 โรงเรียน ซึ่งอีกโรงเรียนไปถามมาแล้วต้องตามเก็บอีก 20 หน่วยกิต มันไม่ไหว ในเมื่ออาจารย์พูดแบบนี้ ผมก็เลยตัดสินใจไปเรียนกศน.”
“ผมรู้สึกแย่ที่ทำให้แม่เสียใจ มันทำให้ผมคิดว่า ทำยังไงก็ได้ให้เอาตัวเองออกไปจากสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้ ให้พ้นจากคำดูถูก ให้พ้นจากความเสียใจของพ่อแม่ แม้จะไม่มีใครเชื่อว่า เราจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย เราก็ต้องทำให้เขาเห็น ออกไปจากตรงนี้ให้ได้”
น้องวิทย์ เผยความฝัน ที่ตอนนั้นใครได้ฟังก็บอกว่า “เพ้อเจ้อ” ว่า “ตอนนั้นเลือกไว้ 2 ทางคือ นิติศาสตร์ กับ หมอ เหมือนเลือกได้เลยนะ (หัวเราะ) มันดูเพ้อมากๆ เลยที่เด็ก กศน.คนหนึ่ง มานั่งคิดว่า จะสอบนิติศาสตร์ หรือ หมอ
“ผมคิดเองว่า จะสอบหมอต้องเรียนอะไรบ้าง ไปดูข้อสอบเก่าๆ และใน 1 ปี เราต้องเสริมความรู้ที่ขาดให้ได้ แต่ข้อดีของการเรียนกศน.คือ เรามีเวลาว่างมาก ดังนั้น เวลาที่ว่างเราก็ต้องไปอัดเนื้อหาความรู้ โดยหากจะไปติวต้องนั่งรถไปสุราษฎร์ 3 ชั่วโมง และนั่งกลับอีก รวม 7 ชม. ผมจึงต้องอ่านเองเท่าที่ทำได้ อย่างไทย สังคม สามารถอ่านเองได้ ส่วนบทไหนไม่เข้าใจ อย่างคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เฉพาะบางบทที่อ่านไม่ไหว หรือเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตแล้วยังไม่เข้าใจ จะไปลงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่จะไปติวเฉพาะเสาร์–อาทิตย์ กลับมาบ้านก็มาตะลุยโจทย์เอง”
น้องวิทย์วางแผนรายวัน รายสัปดาห์ และรายปี โดยใน 1 วัน จะต้องอ่านหนังสืออย่างน้อย 3 วิชา ตกแล้ววิชาละ 2 ชั่วโมง พร้อมกับทำโจทย์อีก 50 ข้อ ในสัปดาห์จะต้องอ่านให้ได้ 3-4 บท เดือนนี้จะต้องทำได้เท่านี้ และ 3 เดือนก่อนสอบต้องจบเนื้อหาทั้งหมด เพื่อเริ่มทบทวนอีกรอบ
“ผลสอบออกมาน้องวิทย์ได้อันดับ 1 วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 7 และเป็นโรงเรียนแพทย์ทหารแห่งเดียวในประเทศไทย”
“ตอนออกมาจากห้องสอบไม่มีความกังวลเลย รู้สึกว่าเราเต็มที่ วันที่สอบติดดีใจมาก นี่แหละคือสิ่งตอบแทนที่เราพยายามมาโดยตลอด ไม่นอกลู่นอกทาง ตั้งใจทำเต็มที่ ดีใจตื้นตันมากครับ แม่ดีใจมาก ตอนแรกเขาคงไม่ได้คาดหวังว่าผมจะต้องสอบติดหมอ” น้องวิทย์ เล่าด้วยความภาคภูมิใจ
น้องวิทย์เป้าเรียนแพทย์ให้จบปี 6 แล้วใช้ทุน ก่อนที่จะกลับไปพัฒนาบ้านเกิดใน จ.ระนอง ช่วยคนในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างที่ตั้งใจไว้
ความพยายาม และพุ่งเข้าสู่เป้าหมายอย่างตั้งใจ ไม่สนคำพูดครหาจากใคร เส้นชัยจะถึงในสักวัน
ขอขอบคุณข้อมูล และภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์
Leave a Reply