อันตรายมาก!!! ปล่อย “ลูกเล่นมือถือ”… เท่ากับ “หั่นสมองลูก” ไม่รู้ตัว
พ่อแม่สมัยนี้ถ้าไม่อยากให้ลูกร้องไห้งอแง ก็มักจะทุ่นแรงด้วยการยื่นมือถือให้ลูกเล่นเกม หรือดูการ์ตูน แต่รู้หรือไม่ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เล่นๆ อีกต่อไปแล้ว
นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า ในกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 6-15 ปี ที่มีปัญหาผลการเรียนไม่ดี เรียนไม่ทันเพื่อนนั้นมักจะพบมี 4 โรคทางจิตเวชแอบแฝงที่พบบ่อย คือ 1.ออทิสติก 2.สมาธิสั้น 3.แอลดีหรือภาวะบกพร่องในการเรียนรู้ และ 4.สติปัญญาบกพร่อง โดยโรคสมาธิสั้นพบมากที่สุด
ผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตปี 2559 ร้อยละ 5.4 คาดว่ามีเด็กเป็นโรคสมาธิสั้น 420,000 คน จากประชากรเด็ก 7 ล้านคน หรือพบได้ 2-3 คนต่อห้องเรียนที่มีเด็ก 40-50 คน และพบในเด็กผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาการที่แสดงออกได้แก่ ซนอยู่ไม่นิ่งขาดสมาธิ หุนหันพลันแล่น หรือมักเรียกว่า “โรคไฮเปอร์” โมักมีอาการชัดเจนในช่วงประถมศึกษา ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมที่อาจส่งผลถึงอนาคต เช่น เสี่ยงติดสารเสพติด ก่ออาชญากรรม เป็นต้น
นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ที่น่าห่วงมากขณะนี้พบว่าเด็กเล็กที่ปกติกลายเป็นโรคไฮเปอร์เทียมมากขึ้น คือมีอาการคล้ายโรคไฮเปอร์ แต่ยังไม่ถึงขั้นป่วย เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ตามใจ ปล่อยให้เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ เล่นแท็บเล็ต สมาร์ทโฟนเพื่อทำให้เด็กนิ่ง ไม่ซน แต่ในวงการจิตแพทย์พบว่าความเร็วของภาพในเกมซึ่งเปลี่ยนเร็วทุก 3 วินาที จะส่งผลโดยตรงต่อสมองทำงานไม่ลงตัว คุมสมาธิไม่ได้ ทำให้ทักษะการอ่าน การเขียน การพูดของเด็กแย่ลง อารมณ์ร้อน รอคอยไม่เป็น มีปัญหาการอยู่ร่วมกับเด็กวัยเดียวกันหรือคนอื่น ดังนั้นขอเตือนผู้ปกครองระวัง อย่าให้เด็กเล็กเล่นเกมจากอุปกรณ์เหล่านี้ หากให้หยุดเล่นได้เร็วอาการจะค่อย ๆ หายไป และควรให้เด็กได้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อให้เด็กมีทักษะและพัฒนาการทุกด้าน
รักลูก ต้องเอาใจใส่ลูก ให้เวลากับเค้า พาลูกออกไปเล่นอย่างเหมาะสม ได้เจอกับอากาศดีๆ ของเล่นเสริมพัฒนาการ และเจอเด็กๆ คนอื่นเพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคมด้วย ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่พ่อแม่สมัยนี้ทำได้ไม่ยากจนเกินไป
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ และขอบคุณภาพจาก เฟซบุ๊ก “นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์”
Leave a Reply