เปิดคดี…เคาท์ดาวน์มรณะ“ซานติก้าผับ” ท่วงทำนองแห่ง “กองเพลิง
คดีสะเทือนขวัญชาวนักเที่ยวกลางคืนที่สุดในรอบสิบปีนี้ คงจะหนีไม่พ้น “คดีซานติก้าผับ” ที่หลายคนยังคงจดจำภาพแห่งความโหดร้ายผ่านสื่อทุกแขนงได้จนถึงทุกวันนี้
หากย้อนกลับไปเมื่อราว 6 ปีก่อน เชื่อว่าหนึ่งในเหตุการณ์ที่ผู้คนยังคงลืมไม่ลงจนถึงปัจจุบัน เห็นจะเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ วันที่ 31 ธันวาคม ปี 2551 กับเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ สถานบันเทิงหรูกลางกรุง ที่ย่างสดนักท่องราตรีจนมีผู้เสียชีวิตถึง 66 คน รวมถึงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและพิการอีกนับร้อยราย
ท่ามกลางค่ำคืนที่สนุกสนานเมื่อ 6 ปีก่อน นักท่องราตรีจำนวนมากต่างเดินทางเข้ามาร่วมฉลองในค่ำคืนส่งท้ายปีเก่ากันยัง ซานติก้าผับ อันเป็นสถานบันเทิงระดับแนวหน้าของไทย ซึ่งในคืนวันเกิดเหตุมีความพิเศษอยู่ที่เป็นคืนอำลาของซานติก้าผับ ก่อนปิดให้บริการ โดยมีการจัดคอนเสิร์ต เล่นเกม และแจกไฟเย็นให้เหล่านักเที่ยวได้ร่วมจุดฉลองกันในค่ำคืนนั้น แต่แล้วความสนุกสนานกลับแปรเปลี่ยนเป็นเหตุร้ายในชั่วข้ามคืน เมื่อเปลวไฟได้ถูกจุดขึ้น และลุกลามไปตามโครงสร้างของอาคารที่ตกแต่งด้วยไม้เป็นหลักอย่างรวดเร็ว กระทั่งภายในเวลาไม่กี่นาที ความชุลมุนวุ่นวายก็เกิดขึ้น
แม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายปี และซานติก้าผับในปัจจุบันได้กลายมาเป็นที่รกร้างไปแล้ว แต่ชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ในชุมชนทิพย์เกสร ภายในซอยเอกมัย 11 ต่างยังจดจำเหตุการณ์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี เมื่อพวกเขาได้เห็นควันไฟที่พวยพุ่งขึ้นฟ้า ได้เห็นชาวบ้านที่ต่างออกมามุงดูเปลวไฟที่ลุกท่วมผับ ชาวบ้านบางคนเริ่มวิ่งหนี ในขณะที่ได้ยินเสียงตะโกนและเสียงร้องโหยหวนของบรรดานักเที่ยวที่อยู่ภายในซานติก้าผับ และสิ่งที่น่าหดหู่ที่สุดที่พวกเขาจดจำได้ก็คือสภาพศพที่นอนทับกันเกลื่อนในที่เกิดเหตุ
นอกจากนี้เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงตรึงตราอยู่ในความทรงจำของผู้ที่รอดชีวิต เช่นเดียวกับ คุณฐาปนา รัศมี ผู้อยู่ในเหตุการณ์ค่ำคืนนั้นและเป็นผู้นำภาพที่บันทึกไว้ได้มาเปิดเผยผ่านทางรายการเป็นครั้งแรก โดยคุณฐาปนาเปิดเผยว่า ในวันนั้นเขาทำงานอยู่บ้าน แต่แฟนสาวอยากจะออกไปเลี้ยงฉลองในคืนส่งท้ายปีเก่า เมื่อได้เห็นว่าซานติก้าผับจะเปิดให้บริการเป็นคืนสุดท้ายและมีการแสดงเพลงฮิปฮอปที่แฟนสาวชอบ จึงได้พาเธอไป เขาจำได้ว่าบรรยากาศในวันนั้นเป็นอย่างสนุกสนาน มีการแสดงดนตรี เล่นเกม แจกเหล้า และมีผู้คนหนาแน่นเป็นอย่างมากจนแทบไม่มีที่ยืน นอกจากนี้ยังมีการแจกไฟเย็นในนักท่องเที่ยว และมีการจุดพลุกระดาษ
สภาพของซานติก้าผับได้แปรเปลี่ยนเป็นทะเลเพลิง นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศต่างหนีตายกันอลหม่าน แต่ละคนต่างพยายามเอาชีวิตรอดด้วยการกรูไปยังทางเข้า-ออกของผับ ซึ่งคับแคบและมีเพียงทางเดียว ทำให้ผู้คนต่างเบียดและดันกัน พร้อมเสียงตะโกนดังระงมไปทั่วบริเวณ
ด้าน คุณอัญวุฒิ โพธิ์อำไพ เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู ซึ่งได้เข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุในค่ำคืนนั้นเปิดเผยว่า หลังจากที่เขาไปถึงซอยเอกมัย 11 ที่เกิดเหตุ ก็เห็นสภาพไฟลุกท่วม จึงได้รีบวิ่งไปยังประตูทางเข้าแล้วทุบกระจกที่ผนังให้แตกเพื่อช่วยคนออกมา ทันใดนั้นเองที่เขาได้เห็นภาพชวนตกใจ มันเป็นภาพของคนที่ชูมือขึ้นเพื่อขอความช่วยเหลือมาเต็มไปหมด ตอนนั้นมีคนเสียชีวิตแล้วเป็นสิบ และกำลังจะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
หลังจากที่ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ก็สามารถควบคุมเพลิงได้ ขณะที่ศพกว่าครึ่งร้อยถูกนำมากองไว้ด้านหน้าผับที่ไม่เหลือสภาพ สิ่งที่น่าเศร้าคือผู้เสียชีวิตส่วนมากไม่ได้เสียชีวิตจากเปลวไฟ หากแต่เกิดจากการสำลักควัน ขาดอากาศหายใจ หรือแม้แต่ถูกเหยียบจนตาย ในขณะที่ผู้บาดเจ็บกว่า 200 คนได้ถูกลำเลียงส่งยังโรงพยาบาลต่าง ๆ
“เมื่อเพลิงสงบเราได้เข้าไปตรวจสอบเบื้องต้น สภาพที่เราเห็นคือร่างผู้เสียชีวิตที่นอนกอง ในลักษณะซ้อน ๆ กัน” คุณอัญวุฒิ กล่าว
ขณะที่ คุณฐาปนา เล่าว่า ในเวลาที่เกิดเหตุเขาพยายามโทรศัพท์หาแฟนสาวครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ไม่มีคนรับสาย กระทั่งเพดานด้านบนร่วงหล่นลงมาต่อหน้า จึงได้ยินเสียงถูกตัดสายไป จากนั้นเขาสลบไปแล้วมารู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อมีคนลากตัวออกมาทางประตูทางออกไปสูบบุหรี่ โดยถูกนำตัวมาแช่น้ำพุที่อยู่บริเวณนั้น ก่อนเจ้าหน้าที่ร่วมกตัญญูเข้ามาช่วยเหลือขึ้นรถ
“จากนั้นผมก็หนีลงจากรถร่วมกตัญญูเข้าไปข้างในอีกเพื่อหาแฟน ไปหาคนนู้นคนนี้ เขาก็บอกว่าช่วยออกไปแล้ว มีรายชื่อแล้ว ผมก็ตามหาตามรถคันต่าง ๆ ที่หิ้วผู้หญิงออกไป แต่ก็ไม่ใช่ ผมยังวิ่งไปที่ศาลพระภูมิเพื่อขอให้แฟนสาวรอด” คุณฐาปนา กล่าว อย่างไรก็ตาม ภาพสุดท้ายของแฟนสาวซึ่งมีแผนจะแต่งงานกับเขา ก็คือภาพหลังการเคาน์ดาวน์ ขณะที่แฟนของเขาหอมแก้ม แล้วบอกว่ารักเขาเท่านั้น
สำหรับ ซานติก้าผับ เป็นสถานบันเทิงระดับต้น ๆ ของไทยที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2547 ด้วยความสวยงามและความโด่งดังตลอดหลายปีที่เปิดให้บริการ ทำให้ไม่มีใครฉุกคิดถึงสิ่งอันตรายที่แฝงไว้ในที่แห่งนี้ ภายในคืนวันเกิดเหตุมีผู้มาใช้บริการในซานติก้าผับร่วมพันคน แต่กลับมีประตูทางเข้า-ออกที่นักเที่ยวรู้จักกันเพียงทางเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องต่ำกว่ามาตรฐานด้านความปลอดภัย
แท้จริงแล้วมีประตูทางเข้า-ออกซานติก้าผับอยู่ 4 ประตู แบ่งเป็นประตูหลักด้านหน้าที่นักเที่ยวใช้ ประตูสำหรับออกไปสูบบุหรี่ และอีก 2 ประตูสำหรับแขกวีไอพี อย่างไรก็ตามบริเวณประตูหลักด้านหน้ากลับเป็นจุดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ทั้งที่มีประตูอื่น ๆ ที่สามารถออกไปได้
“สิ่งที่น่าเสียใจคือ ห่างจากประตูเข้า-ออกเพียง 3 เมตรไม่ได้เป็นจุดที่ถูกไฟไหม้ แต่คนเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจหรือสำลักควันเพียงอย่างเดียว คนราว 20 คนนี้น่าจะรอดชีวิตได้ หากรู้ว่าตรงไหนคือประตูทางออก” คุณอัญวุฒิ เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู กล่าว
นอกจากปัญหาเรื่องประตูทางเข้า-ออกที่คับแคบแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากการถูกไฟไหม้ ก็คือควันพิษซึ่งทำให้ผู้คนหายใจไม่ออก เนื่องจากของตกแต่งภายในซานติก้าผับส่วนมากล้วนก่อให้เกิดควันพิษเมื่อถูกไฟไหม้
สำหรับกระบวนการสอบสวนเหตุการณ์เพลิงไหม้ซานติก้าผับ ได้เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่หลังเกิดเหตุ ทว่าแม้จะมีการเรียกสอบพยานหลายปาก แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถทราบได้ว่าต้นเพลิงเกิดจากอะไรกันแน่ เช่นเดียวกับผลการพิสูจน์นิติเวชวิทยาศาสตร์ของตำรวจที่ยังไม่สามารถสรุปได้ แต่เบื้องต้นพวกเขาเชื่อว่าน่าจะเกิดจากการยิงพลุกระดาษขึ้นไปบนเพดาน ทำให้กระดาษไปติดกับสปอร์ตไลท์จนเกิดไฟลุก และไหม้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
จากนั้นกระบวนการสอบสวนและหลักฐานได้ชี้ไปในแนวทางเดียวกัน และหลังจากผ่านการสอบสวนเกือบ 1 เดือน ทางตำรวจก็สามารถจับกุมผู้ต้องหารายสุดท้ายได้ คือนักร้องนำวงเบิร์น ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จุดพลุกระดาษหลังแสดงดนตรีเสร็จ โดยมีพยานชี้ว่าเขาได้ใช้ไฟแช็กจุดพลุ ก่อนจะเกิดเพลิงไหม้ในทันที
อย่างไรก็ตาม เมื่อทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุอีกครั้ง พวกเขาก็ได้พบกับหลักฐานชิ้นสำคัญซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ความบริสุทธิ์แก่นักร้องนำวงเบิร์นได้ รวมทั้งเป็นเครื่องที่ชี้ให้เห็นว่าแท้จริงแล้ว ต้นเพลิงมาจากอะไรกันแน่
หลักฐานดังกล่าวคือกล้องที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งสามารถบันทึกภาพการแสดงในช่วงเวลาที่เกิดเหตุไฟไหม้ได้ เผยให้เห็นภาพการแสดงของวงเบิร์น ที่เมื่อแสดงจบนักร้องนำคนดังกล่าวก็ได้เดินออกไปข้างเวที ก่อนที่สเปเชียลเอฟเฟกต์จะถูกจุดขึ้นกลางเวที ในตอนนั้นที่นักร้องคนใหม่เดินเข้ามา ก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้ขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าเพลิงที่ไหม้ซานติก้าผับ แท้จริงแล้วเกิดจากสเปเชียลเอฟเฟกต์ของเวที ซึ่งเกิดจากระบบไฟฟ้า ไม่ใช่พลุกระดาษที่นักร้องนำวงเบิร์นเป็นคนจุด
ในที่สุดสังคมก็ได้ทราบความจริงที่เกิดขึ้น นักร้องนำวงเบิร์นกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ขณะที่เรื่องดังกล่าวในทางคดีอาญา เมื่อปี 2554 ศาลขั้นต้นได้พิพากษาจำคุก 3 ปี เจ้าของซานติก้าผับ และบริษัททำเอฟเฟกต์ ก่อนที่ต่อมาในปี 2556 ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องเจ้าของซานติก้าผับ แต่ยังคงพิพากษาจำคุก 3 ปี บริษัททำเอฟเฟกต์ต่อ ขณะที่ตอนนี้คดีอยู่ในชั้นฎีกา
ส่วนด้านการเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง ทั้งศาลขั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินให้บริษัททำเอฟเฟกต์ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ญาติผู้เสียหายเป็นจำนวนเงิน 8,700,000 บาท โดยเจ้าของซานติก้าผับไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย
อย่างไรก็ตาม เงินชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวก็ยังถูกส่งไปไม่ถึงมือของผู้เสียหายทั้งหมด โดยคุณรัตนาซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุดังกล่าวและเป็นอีกคนที่ยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชย เผยว่า หากเป็นที่ต่างประเทศป่านนี้เธอก็คงได้รับเงินแล้ว ซึ่งคงจะมากกว่าที่ศาลไทยเรียกค่าเสียหายให้อีกด้วยซ้ำ แต่เพราะที่ไทยกฎหมายไม่แข็งแรง คนรวยมีอำนาจมากกว่า อย่างไรก็ตามเธอยังคงจะไปศาลทุกครั้งที่ศาลนัด ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือค่ารถเท่าไรก็ตาม
จากเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ทำให้คุณรัตนาต้องใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่เกือบ 1 ปี แม้ว่าเธอจะไม่ได้ถูกเปลวไฟโดยตรง แต่ร่างกายก็ได้รับความเสียหายจากความร้อนของไฟ เธอต้องถูกตัดนิ้วก่อนที่จะตัดมือ การทำแผลทุกครั้งคือความทรมานอย่างยิ่ง จนเธอเคยขอว่าไม่อยากรับการรักษาแล้ว และต่อให้ต้องติดเชื้อเข้ากระแสเลือดจนเสียชีวิตก็ยอม เพราะในตอนนั้นเธอทนบาดแผลไม่ไหวแล้ว อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่ผ่านไปนานหลายปี ก็ทำให้จิตใจของเธอเริ่มได้รับการเยียวยาบาดแผล คุณรัตนาเริ่มทำใจได้ เพราะแม้จะมีความพิการหลายอย่างที่ต่อให้รักษาหายแล้วก็ยังกลับมาเป็นใหม่ แต่อย่างน้อยเธอก็ยังเหลือตาไว้มอง ทานอาหารรู้รส มีหูที่ฟังเสียงได้ และยังคงสามารถไปไหนมาไหนได้
ทั้งนี้ภายหลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ซานติก้าผับ ในปี 2555 กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยสถานบริการที่กำหนด ให้ต้องมีระบบความปลอดภัยที่เหมาะสม เช่น ทางออก ประตูทางออก ทางหนีไฟ บันไดหนีไป ประตูหนีไฟ ระบบการระบายอากาศ และยังกำหนดให้สถานบริการต้องมีผู้ดูแลความปลอดภัยและป้องกันอันตรายอย่างน้อย 1 คน ส่วนสถานบริการที่เปิดก่อนปี 2555 ก็ต้องติดตั้งระบบความปลอดภัยของอาคารด้วยเช่นกัน
แม้คดีนี้จะกลายเป็นอุทธาหรณ์สำหรับสถานบันเทิงยามค่ำคืนอยู่ระยะใหญ่ แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องแบบนี้ “ต้องการเป็นคดียิ่งใหญ่ ที่สร้างความหวาดกลัวไปทั้งประเทศ” ก่อน แล้วจึงค่อยมาแก้ไขปัญหา เหมือนกับเป็นการวัวหายแล้วค่อยล้อมคอก ทางที่ดีหากปลูกจิตสำนึกของนักธุรกิจได้ ใส่ใจความปลอดภัยของผู้ใช้บริการตั้งแต่เริ่มแรก เรื่องแบบนี้ก็คงไม่มีทางเกิดขึ้น!!!
ขอขอบคุณข้อมูล และเครดิตภาพจาก FB ตำนานคดีดัง
Leave a Reply