ง่ายๆ แต่น้อยคนที่จะ “รู้จริง”!!!… ที่มาของคำว่า “สวัสดี”

ง่ายๆ แต่น้อยคนที่จะ “รู้จริง”!!!… ที่มาของคำว่า “สวัสดี”

1

 

เชื่อว่าหลายคนคงคิดไม่ถึงแน่ๆ ว่า ทำไมเราต้องทักทายกันด้วยคำว่า “สวัสดี” ใครกันนะเป็นคนคิดคำนี้ขึ้นมา และทำไมต้องเป็นคำนี้ด้วย วันนี้มีคำตอบมาฝาก

พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) ได้เล่าถึงต้นเหตุเดิมไว้ว่า เจ้าหน้าที่วิทยุกระจายเสียงได้ใช้คำ “ราตรีสวัสดิ์” ลงท้ายคำพูดเมื่อจบการกระจายเสียงตอนกลางคืน โดยอนุโลมตามคำว่า “กู๊ดไนต์” (Goodnight) ของอังกฤษ แต่มีผู้ไม่เห็นด้วย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง จึงขอให้กรรมการชำระปทานุกรมของกระทรวงธรรมการในสมัยนั้น ช่วยคิดหาคำให้ ตกลงได้คำว่า “สวัสดี” ไปใช้ แล้วในพ.ศ. 2476 พระยาอุปกิตศิลปสาร ก็ได้นำไปเผยแพร่ให้นิสิต ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใช้เป็นคำทักทายเมื่อพบกัน จึงได้แพร่หลายใช้กันต่อมา

ครั้นต่อมาในยุคบำรุงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชาติ รัฐบาลในสมัยนั้น ก็เห็นชอบกับการใช้คำว่า “สวัสดี” ในโอกาสแรกที่ได้พบกัน ได้มอบให้กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ออกข่าวประกาศเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2486 ดังต่อไปนี้ (ตัวสะกดและการันต์ในสมัยนั้น)

“ด้วยพนะท่านนายกรัถมนตรี ได้พิจารนาเห็นว่า เพื่อเปนการส่งเสริมเกียรติแก่ตนและแก่ชาติ ให้สมกับที่เราได้รับความยกย่องว่า คนไทยเปนอารยะชน คำพูดจึงเปนสิ่งหนึ่งที่สแดงภูมิของจิตใจว่าสูงต่ำเพียงใด ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้กำชับ บันดาข้าราชการทุกคนกล่าวคำ “สวัสดี” ต่อกันไนโอกาสที่พบกันครั้งแรกของวัน เพื่อเป็นการผูกไมตรีต่อกัน และฝึกนิสัยไห้กล่าวแต่คำที่เปนมงคล ว่าอะไรว่าตามกัน กับขอไห้ข้าราชการช่วยแนะนำ แก่ผู้ที่อยู่ไนครอบครัวของตนไห้รู้จักกล่าวคำ “สวัสดี” เช่นเดียวกันด้วย” นี่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ทางราชการในสมัยนั้นได้กำหนดให้ใช้คำว่าสวัสดี ไว้แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2486 จวบจนปัจจุบัน

เลิกใช้คำว่า ฮัลโหล, ไฮ, วอทซับ ฯลฯ แล้วหันมาใช้คำน่ารักๆ ที่แสดงถึงวัฒนธรรมไทยอย่างคำว่า “สวัสดี” กันนะคะ ถ้าเราคนไทยไม่ใช้คำนี้ แล้วใครจะใช้? หรือต้องรอให้ฝรั่งมายกมือไหว้แล้วกล่าวคำว่า “สวัสดี” กับเราก่อนแล้วเราจึงจะเห็นคุณค่า

ขอขอบคุณข้อมูลจาก m-culture.go.th และขอขอบคุณเครดิตรูปจาก doohoon.com