“การถวายหน้ากากทองคำ” และ “หักหวี” ในพิธีสรงน้ำพระบรมศพ

“การถวายหน้ากากทองคำ” และ “หักหวี” ในพิธีสรงน้ำพระบรมศพ

หน้ากากทองคำ พระบรมศพ

ตามประเพณีโบราณแล้ว สำหรับพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ และพระราชวงศ์ชั้นสูงนั้น เมื่อมีการสวรรคต หรือสิ้นพระชนม์ลง ก็จะมีการพระราชพิธีถวายน้ำสรงพระบรมศพ ถวายเครื่องขาวทรงพระบรมศพ และถวายเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์อย่างเต็มที่ โดยเครื่องทรงพระบรมศพเต็มยศพระมหากษัตริย์ หรือ พระอัครมเหสี จากนั้นเจ้าพนักงานถวายพระสาง (หวี) แก่องค์ประธานเพื่อทรงหวีพระเกศาพระบรมศพขึ้นหนึ่งครั้ง ลงหนึ่งครั้ง และขึ้นอีกหนึ่งครั้ง จากนั้นทรงหักพระสางวางที่พาน ซึ่งเจ้าพนักงานเชิญอยู่

ครั้งพิธีสรงน้ำพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 นั้น สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ผู้เป็นอัครมเหสีทรงเป็นผู้หักพระสางนี้เอง

จากนั้นเจ้าพนักงานจะถวายขี้ผึ้งแผ่จนเต็มพระพักตร์ และอุดพระทวารทั้งเก้า(สำหรับในอดีตที่ยังไม่มีการถวายยาฉีดฟอร์มาลีน) จากนั้นเจ้าพนักงานจะอัญเชิญ “พระสุพรรณจำหลักปริมณฑลฉลองพระพักตร์” หรือแผ่นทองคำจำหลักลายปิดพระพักตร์ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติพระบรมศพ เพื่อไม่ให้เห็นพระพักต์หากพระบรมศพมีสภาพที่มิบังควรเห็น ซึ่งพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ก็รับการถวายแผ่นพระพักต์นี้ปิดที่พระพักต์ตามโบราณราชประเพณีทุกอย่าง เพียงแต่พระศพไม่ได้ทรงพระชฏาห้ายอดลงที่พระเศียร เพราะพระชฏาห้ายอดนี้สำหรับพระบรมศพที่ลงประทับนั่งพระโกศ

หน้ากากทองคำ ศพ_14570272_951966174947003_6672690442134731182_n

ทั้งนี้เหตุผลที่ พระบรมศพของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มิทรงลงประทับยังพระบรมโกศ ไม่ใช่เพราะยกเลิกธรรมเนียมแต่อย่างใด แต่มาจากพระประสงค์เป็นการภายใน ซึ่งพระบรมศพของสมเด็จย่าถูกอัญเชิญลงหีบเป็นปฐมองค์แรก ซึ่งเหตุปฐมนี้เกิดมาจาก ครั้งที่พระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งสมเด็จย่าเสด็จด้วย และได้เห็นการทำพระสุกำหรือมัดตราสังค์พระบรมศพแล้วอัญเชิญลงสู่พระบรมโกศ ซึ่งเป็นไปด้วยความทุลักทุเล สมเด็จย่าจึงตรัสว่า “อย่าทำกับฉันอย่างนี้ อึดอัดแย่” และเมื่อพระองค์สวรรคตพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จย่าลงหีบ ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับสมเด็จพระพี่นางในรัชกาลที่ 9

หน้ากากทองคำ ศพ_14716078_951980264945594_8643497957783972129_n

ส่วนพระศพของพระราชวงศ์ชั้นสูงที่อัญเชิญลงประทับยังพระโกศไปนั้น คือปี 2554 พระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนฯ ซึ่งเป็นพระประสงค์ส่วนพระองค์ และทรงตรัสไว้ว่าจะดำรงพระเกียรติยศของการเป็นขัติยนารีแห่งพระราชวงศ์จักรีอย่างสูงที่สุด ในส่วนพิธีการนั้นสำนักพระราชวังจัดตรงตามโบราณราชประเพณีทุกประการ เว้นแต่ตอนพระราชทานเพลิงที่อัญเชิญพระโกศเข้าเตาไฟฟ้า แทนการตั้งบนจิตกาธานหรือเชิงตะกอน และยังมีพระศพของหม่อมเจ้าหญิงกรณิกา แห่งราชสกุลจิตรพงศ์ ที่สิ้นไปเมื่อปีที่แล้ว และเจ้าพนักงานภูษามาลาอัญเชิญพระศพลงโกศ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจคลังประวัติศาสตร์ไทย